ถั่วพัลส์ (Pulses): วัตถุดิบอาหารและเครื่องดื่มแห่งอนาคตที่ตอบโจทย์คนไทย
ในปี 2025 วงการอาหารและเครื่องดื่มกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยผู้บริโภคมุ่งเน้นอาหารที่มีคุณค่า ที่มาพร้อมกับความอร่อยและตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล (Precision Wellness) ผู้บริโภคมองหาอาหารและเครื่องดื่มจากวัตถุดิบที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องสุขภาพและความยั่งยืน เช่น อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้รักสุขภาพ รวมถึงเทรนด์ Rethinking Plants ที่พลิกโฉมโปรตีนจากพืชด้วยผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ แปลกใหม่ มีความหลากหลาย โดยตลาดโปรตีนจากพืชที่เติบโตเฉลี่ยกว่า 15% ต่อปีในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือ (Innova Market Insights, 2025)
ในระดับสากล ตลาดโปรตีนจากพืชยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8.7% จนถึงปี 2030 ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากพืชและมีความยั่งยืน ในปี 2023 การบริโภคโปรตีนจากพืชในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการสำรวจผู้บริโภคไทยกว่า 1,500 คน พบว่า 67% ต้องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ภายในสองปี และหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชแทน ผู้บริโภคมองหาทางเลือกเพื่อสุขภาพและความยั่งยืน
"พืชตระกูลถั่วพัลส์" (Pulses) เช่น ถั่วลันเตา ถั่วเลนทิล ถั่วลูกไก่ และถั่วเนวี่ รวมถึงวัตถุดิบจากถั่วพัลส์ (Pulse Ingredients) เช่นแป้งถั่วพัลส์ชนิดต่างๆ กลายเป็นวัตถุดิบที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก ด้วยคุณสมบัติที่หลากหลาย ถั่วพัลส์จึงเป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารแพลนต์เบส เครื่องดื่มโปรตีนสูง หรือขนมขบเคี้ยว
ถั่วพัลส์ (Pulses): วัตถุดิบแห่งโอกาสใหม่
ถั่วพัลส์เป็นพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ในหลากหลายด้าน:
1. แหล่งโปรตีนจากพืชที่มีคุณภาพสูง
ถั่วพัลส์มีปริมาณโปรตีนสูง สามารถทดแทนโปรตีนจากสัตว์ได้ดี เหมาะสำหรับการผลิตเนื้อเทียม เบเกอรี่ไร้กลูเตน และเครื่องดื่มโปรตีน เช่น นมจากถั่วลันเตา
2. เหมาะสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
ถั่วพัลส์เป็นทางเลือกสำคัญสำหรับผู้ที่แพ้แลคโตสในนม หรือกลูเตนในแป้งสาลี โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์นมเทียมและพาสต้าไร้กลูเตน
3. การปลูกที่ยั่งยืน
การปลูกถั่วพัลส์ใช้น้ำน้อย และยังช่วยฟื้นฟูไนโตรเจนในดิน ทำให้เหมาะกับการผลิตอาหารในยุคที่ต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อดีของการใช้ถั่วพัลส์ (Pulses)
1. เสริมสุขภาพ
ถั่วพัลส์เป็นแหล่งของโปรตีน ไฟเบอร์ และสารอาหารที่ช่วยเสริมระบบย่อยอาหาร ลดคอเลสเตอรอล และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
2. ตอบสนองความต้องการตลาดสุขภาพ
ด้วยแนวโน้มผู้บริโภคที่หันมาสนใจอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ถั่วพัลส์จึงมีบทบาทสำคัญในสินค้าแพลนต์เบส เช่น ขนมขบเคี้ยวโปรตีนสูง และเครื่องดื่มฟังก์ชัน
3. ช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากสัตว์
ถั่วพัลส์สามารถนำมาทดแทนเนื้อสัตว์ในอาหาร เช่น เบอร์เกอร์แพลนต์เบส ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์
4. ความหลากหลายในการใช้งาน
ถั่วพัลส์สามารถแปรรูปเป็นแป้ง โปรตีนสกัด หรือเครื่องดื่มทางเลือก ทำให้เหมาะกับอุตสาหกรรมอาหารหลากหลายประเภท
ความท้าทายของการใช้ถั่วพัลส์ (Pulses)
1. การพึ่งพาการนำเข้า
ปัจจุบันถั่วพัลส์หลายชนิด เช่น ถั่วเลนทิลและถั่วลูกไก่ ไม่สามารถปลูกในประเทศไทยได้ ทำให้ต้องนำเข้าวัตถุดิบ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต
2. เทคโนโลยีแปรรูปที่จำกัด
การแปรรูปถั่วพัลส์ เช่น การสกัดโปรตีน ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตได้เอง
3. การยอมรับของผู้บริโภค
คนไทยบางส่วนยังไม่คุ้นเคยกับสินค้าอาหารที่ใช้ถั่วพัลส์เป็นวัตถุดิบ เช่น เนื้อเทียม หรือเครื่องดื่มจากถั่วจึงควรมีการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจ
ถั่วพัลส์ (Pulses) และวัตถุดิบจากถั่วพัลส์ (Pulse Ingredients) เป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย ด้วยคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ผลิตอาหารหลายเบรนด์ที่เลือกใช้ถั่วพัลส์และวัตถุดิบจากถั่วพัลส์ เป็นวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็น เบอร์เกอร์แพลนต์เบสและนักเก็ตจากโปรตีนถั่วลันเตา เฟรนช์ฟรายส์โปรตีนสูงจากถั่วเขียว เส้นพาสต้าที่ทำจากแป้งถั่วเลนทิลและถั่วชนิดต่าง ๆ และโปรตีนผงจากถั่วลันเตา อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายที่ต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมทดลองปลูก การพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูป ขั้นตอนการนำเข้า การลดหรือยกเลิกภาษีนำเข้าโดยเฉพาะวัตถุดิบซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุน หากสามารถผลักดันให้ถั่วพัลส์กลายเป็นวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมอาหารไทยได้ จะช่วยสร้างความยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน